“กอนช.”ออกประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วมขัง 4-10 ก.ย.นี้

วันที่ 2 ก.ย.65  กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 36/2565  เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง
 
ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ฉบับที่ 36/2565
เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง
ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มีประกาศ ฉบับที่ 34/2565 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก ในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม – 10 กันยายน 2565 ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 4 – 10 กันยายน 2565 เพิ่มเติม ดังนี้
1. ภาคเหนือ จังหวัดน่าน (อำเภอบ่อเกลือ แม่จริม และสันติสุข) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง พบพระ อุ้มผาง และแม่สอด) จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่)
2. ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก (อำเภอเมืองนครนายก และปากพลี) จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอนาดี ประจันตคาม และกบินทร์บุรี) จังหวัดระยอง (อำเภอแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอท่าใหม่ และมะขาม) และจังหวัดตราด (อำเภอเขาสมิง และบ่อไร่)
3. ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอท่าม่วง ท่ามะกา พนมทวน และห้วยกระเจา) จังหวัดลพบุรี (อำเภอหนองม่วง พัฒนานิคม ท่าหลวง บ้านหมี่ โคกสำโรง และสระโบสถ์) จังหวัดสระบุรี (อำเภอแก่งคอย วังม่วง และมวกเหล็ก) จังหวัดสุพรรณบุรี (อำเภอดอนเจดีย์ ด่านช้าง เมืองสุพรรณบุรี ศรีประจันต์ สองพี่น้อง สามชุก อู่ทอง และบางปลาม้า) จังหวัดนครปฐม (อำเภอกำแพงแสน)
4. ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอบ้านตาขุน และวิภาวดี) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอลานสกา พิปูน และช้างกลาง) จังหวัดระนอง (อำเภอละอุ่น และเมืองระนอง) จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า เมืองพังงา และคุระบุรี) จังหวัดกระบี่ (อำเภออ่าวลึก) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอถลาง และเมืองภูเก็ต)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ประกาศ ณ วันที่ 2 กันยายน 2565

Leave a Comment