กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศแจ้งเตือน 11 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มขึ้น เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 8 – 11 ธ.ค. 65

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศแจ้งเตือนในหลายจังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำไหลหลาก น้ำท่วมขัง และระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 8 – 11 ธ.ค. 65 โดยประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด

พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำ พยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด


กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติว่า ในช่วงวันที่ 8 – 9 ธ.ค.65 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง และหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอร์เนียวจะเคลื่อนผ่านสหพันธรัฐมาเลเซียทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 8 – 11 ธ.ค.65 ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำไหลหลาก และน้ำท่วมขัง

  • ชุมพร (อ.ละแม) 
  • สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองฯ กาญจนดิษฐ์ ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง พุนพิน ดอนสัก) 
  • นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม สิชล ท่าศาลา พรหมคีรี ปากพนัง นบพิตำ พระพรหม) 
  • พัทลุง (อ.เขาชัยสน ควนขนุน บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน กงหรา) 
  • สงขลา (อ.กระแสสินธุ์ ระโนด เทพา รัตภูมิ ควนเนียง หาดใหญ่ สทิงพระ จะนะ) 
  • ปัตตานี (อ.ไม้แก่น หนองจิก โคกโพธิ์ สายบุรี กะพ้อ ยะหริ่ง ทุ่งยางแดง มายอ) 
  • ยะลา (อ.เมืองฯ รามัน ยะหา) 
  • นราธิวาส (อ.เมืองฯ ตากใบ เจาะไอร้อง บาเจาะ ยี่งอ แว้ง สุไหงโก-ลก สุคิริน รือเสาะ) 
  • ภูเก็ต (อ.เมืองฯ ถลาง) 
  • ตรัง (อ.กันตัง) 
  • สตูล (อ.เมืองฯ) 

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง

  • บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก

พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

กอปภ.ก. จึงได้ประสานจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต ตรัง และสตูล เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยโดยติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักหรือฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่เสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ 

รวมถึงประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) และนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันทีตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามสถานการณ์น้ำ พยากรณ์อากาศ และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด 


ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ

Leave a Comment