เตือน 10 จังหวัด ริมเจ้าพระยา รวมถึง กทม.รับมือ 24 ชั่วโมง

ปภ.-กรมชลประทานประสานเสียง เตือน 10 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา-แม่น้ำน้อย รวมถึง กทม.เตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง รับมือน้ำล้นตลิ่งช่วงนี้ถึง 15 ต.ค. หลังคาดการณ์อิทธิพลของร่องมรสุมจะทำให้เกิดฝนตกหนักสะสม ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัดภาคเหนือ-อีสาน เริ่มดีขึ้น พร้อมเร่งช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้าน ซ่อมถนนทางสัญจร

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายสภาพอากาศในสัปดาห์นี้หลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้ตลอดวันที่ 8 ต.ค. ที่ จ.บึงกาฬ หลังมีฝนตกหนักช่วงดึกคืนที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมหลายจุดในเขตเทศบาลเมืองบึงกาฬ อาทิ ถนนสาย 212 บึงกาฬ-หนองคาย ฝั่งขาเข้าเมืองบริเวณหน้าโชว์รูมรถยนต์นิสสัน ถนนรักสงบ หน้าสำนักงานตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ถนนพ้นทุกข์ภัย และพื้นที่รอบๆ ที่มีน้ำท่วมสูงกว่า 60-80 เซนติเมตร และท่วมบ้านเรือนประชาชนหลาย 10 ครัวเรือน เช่นเดียวกับบริเวณถนนประสาทชัย ถนนเจ้าแม่สองนาง และภายในโรงพยาบาลบึงกาฬ ระดับน้ำสูง 10-50 เซนติเมตร ส่งผลกระทบกับการสัญจรไป-มาของชาวบ้านที่ใช้รถจักรยานยนต์ และที่โรงเรียนบึงกาฬ โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬ เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำทุกจุด

ส่วนที่ จ.กาฬสินธิ์ นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อม สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย เดินทางไปฟังสถานการณ์น้ำที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ภาพรวมสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ปัจจุบันยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 10 อำเภอ แยกเป็นน้ำท่วมด้านเหนือเขื่อนจากระดับน้ำของเขื่อนลำปาวที่สูงขึ้น ได้รับผลกระทบจำนวน 6 อำเภอ กับน้ำท่วมด้านท้ายเขื่อนจากการระบายน้ำของเขื่อนลำปาว ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ร่องคำ อ.ฆ้องชัย อ.ยางตลาด และ อ.กมลาไสย หลังจากนั้น รมช.เกษตรฯ พร้อมคณะ ออกเดินทางไปพบปะผู้ประสบภัยน้ำท่วมและติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชี

ไม่สามารถเล่นไฟล์วิดีโอนี้ได้.(รหัสข้อผิดพลาด: 239000)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย และคณะผู้บริหาร ก็ได้ตรวจเยี่ยมสถานการณ์อุทกภัยใน จ.กาฬสินธุ์ เช่นกัน ที่บริเวณ ต.คำสร้างเที่ยง อ.สามชัย และ ต.โนนศิลา อ.สหัสขันธ์ นายอนุทิน เปิดเผยว่า ได้เร่งประสานทุกหน่วยงาน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้เร็วที่สุด และกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือประชาชนในมิติต่างๆ พร้อมจัดตั้งศูนย์พักพิง ปัจจุบันตั้งแล้ว 20 แห่ง กระจายถุงยังชีพพระราชทานจากมูลนิธิราชประชานุ เคราะห์ ชุดธารน้ำใจจากสภากาชาดไทย ถุงยังชีพ เวชภัณฑ์ อาหารเสริม น้ำดื่มที่หน่วยงานต่างๆร่วมสนับสนุน ทั้งตลอดจนมีการนำเครื่องจักรเข้าสนับสนุนช่วยเหลือในพื้นที่ที่มีความจำเป็น

ส่วนที่ อ.วารินชำราบ ช่วงบ่ายวันที่ 8 ต.ค. นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.อุบลราชธานี พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน กำลังพลจาก มทบ.22 เจ้าหน้าที่ ปภ.จังหวัด สำนักงานชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี ร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ และคนในพื้นที่ ช่วยกันกรอกทรายใส่กระสอบกว่า 4 พันใบ นำไปวางเป็นแนวป้องกันไม่ให้น้ำมูลไหลเข้ามาท่วมเพิ่มเติมในพื้นที่ชุมชนท่ากอไผ่ รวมทั้งซ่อมแซมแนวกระสอบทรายที่พังเนื่องจากแรงดันน้ำโดยเสริมแนวพนังของกระสอบเพิ่มขึ้นอีกชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้กระสอบพังทลายลงซ้ำ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำมูลเมื่อช่วงเที่ยงอยู่ที่ 7.83 ม. สูงกว่าระดับตลิ่ง 83 เซนติเมตร มีแนวโน้มที่จะยังคงเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับสถานการณ์ของแม่น้ำวัง หลังจากมวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง เอ่อล้นสปิลเวย์ เนื่องจากมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน เมื่อวันที่ 8 ต.ค. นายจําลักษ์ กันเพ็ชร์ รอง ผจว.ลําปาง ออกตรวจความเสียหายในพื้นที่ อ.สบปราบ อ.เถิน อ.แม่พริก อ.ห้างฉัตร และ อ.เกาะคา ทั้งบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตรเสียหายหลายหมื่นไร่ เพื่อเตรียมการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมและทั่วถึงต่อไป

ขณะที่มวลน้ำจากลำปางที่ไหลทะลักลงมาที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย และแผ่ขยายวงกว้างมากขึ้น เข้าท่วมใน ต.บ้านไร่ ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง และ ต.บ้านกล้วย อ.เมืองสุโขทัย ชาวบ้าน พระสงฆ์ รวมทั้งสัตว์ได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า รวมถึงที่วัดพลายชุมพล ม.5 ต.บ้านกล้วย พระครูปลัดสุวัฒนสาธุคุณ เจ้าอาวาสพร้อมพระลูกวัด ต้องรีบขนย้ายควายเผือกจำนวน 6 ตัวที่เลี้ยงไว้ในคอกหลังวัด บางตัวเพิ่งคลอดลูก ลุยน้ำสูงกว่า 1.50 เมตร ออกมาอยู่บนที่สูงเป็นการชั่วคราว

ที่ จ.พิษณุโลก มีการประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์แม่น้ำวังทอง วิกฤติล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและชุมชนในเขต ต.วังนกแอ่น ต.ชัยนาม และ ต.วังทอง อ.วังทอง ที่วัดบึงพร้าว หมู่ที่ 3 ต.ชัยนาม น้ำเริ่มไหลผ่านวัดบึงพร้าวข้ามถนนระหว่างหมู่บ้านจากทุ่งนาเข้าสู่บ้านเรือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง ต้องเก็บของขึ้นที่สูง ขณะที่สถานีอนามัยตำบลชัยนาม น้ำวังทองได้ล้นตลิ่งไหลเข้าท่วม เจ้าหน้าที่ได้ขอความช่วยเหลือจากกู้ภัยบูรพา มาช่วยยกอุปกรณ์ทางการแพทย์ขึ้นที่สูงแล้ว ส่วนบริเวณริมตลิ่งหลังตลาดวังทอง อ.วังทอง เจ้าหน้าที่ทหารจากกองบิน 46 เร่งกรอกทรายใส่กระสอบ วางเป็นแนวป้องกันน้ำเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจของอำเภออย่างเร่งด่วน ส่วนคลองชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง ระดับน้ำเพิ่มรวดเร็ว และน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านประชาชนและโรงเรียนบ้านน้ำปาด หมู่ที่ 3 ต.ชมพู ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา แต่ขณะนี้น้ำลดลงแล้ว

วันเดียวกัน นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย และคณะ เดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำที่ จ.ชัยนาท กล่าวในภายหลังว่า สถานการณ์น้ำคงไม่หนัก ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทได้พร่องน้ำไปเก็บในพื้นที่แล้ว เพื่อไว้ใช้ในหน้าแล้ง ลักษณะปัญหาปัจจุบันมักเกิดน้ำท่วมและแล้งในพื้นที่เดียวกัน เชื่อว่าอีกไม่กี่วันก็แล้ง เพราะปัจจุบันปริมาณน้ำมีเหลือใช้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของจังหวัดชัยนาทดำเนินการได้ดีเยี่ยมอยู่แล้ว

ด้านนายวัชระ ไกรสัย ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 กล่าวถึงสถานการณ์น้ำขณะนี้ว่า จากการคาดการณ์ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ช่วงวันที่ 9-15 ตุลาคมนี้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก อยู่ในเขตภาคเหนือและภาคกลาง จะทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น สำนักงานชลประทานที่ 12 คาดการณ์ล่วงหน้า 3 วัน ว่าในแม่น้ำน่านจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนแม่น้ำปิงมีแนวโน้มลดลง และที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,800-1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดว่าจะมีการระบายน้ำออกท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,600-1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีการวางแผนรองรับมวลน้ำที่จะมาสูงสุด 3 แนวทาง คือ 1.การทดน้ำหน้าเขื่อนให้สูงขึ้นอยู่ที่ +16.80 ม.รทก. สูงจากปัจจุบันอีก 25 ซม. ไม่ส่งผลกระทบด้านเหนือเขื่อนทั้ง จ.ชัยนาท และ จ.อุทัยธานี 2. รับน้ำเข้าระบบทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกให้มากที่สุด โดยไม่ให้ส่งผลกระทบในพื้นที่ระบบชลประทาน และ 3.หากมีปริมาณน้ำมากกว่าที่จะบริหารได้ทั้ง 2 ข้อดังกล่าว จะระบายลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะมีผลกระทบบางส่วนในจังหวัดอ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา จะเกิดขึ้นในระยะสั้นไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้เท่านั้น

ต่อมา นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่าจากอิทธิพลของร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมทั้งประเทศไทย ทำให้มีปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้นในช่วงวันที่ 8-11 ต.ค.2566 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ในช่วงวันที่ 9-15 ต.ค.2566 ต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง

จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20-0.80 เมตร อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ได้ประสาน 10 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมพร้อมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำและแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีความแข็งแรง จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา : ไทยรัฐ

Leave a Comment