“กอนช.”ออกประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วมขัง 4-10 ก.ย.นี้

วันที่ 2 ก.ย.65  กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 36/2565  เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง
 
ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ฉบับที่ 36/2565
เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง
ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มีประกาศ ฉบับที่ 34/2565 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก ในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม – 10 กันยายน 2565 ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 4 – 10 กันยายน 2565 เพิ่มเติม ดังนี้
1. ภาคเหนือ จังหวัดน่าน (อำเภอบ่อเกลือ แม่จริม และสันติสุข) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง พบพระ อุ้มผาง และแม่สอด) จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่)
2. ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก (อำเภอเมืองนครนายก และปากพลี) จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอนาดี ประจันตคาม และกบินทร์บุรี) จังหวัดระยอง (อำเภอแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอท่าใหม่ และมะขาม) และจังหวัดตราด (อำเภอเขาสมิง และบ่อไร่)
3. ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอท่าม่วง ท่ามะกา พนมทวน และห้วยกระเจา) จังหวัดลพบุรี (อำเภอหนองม่วง พัฒนานิคม ท่าหลวง บ้านหมี่ โคกสำโรง และสระโบสถ์) จังหวัดสระบุรี (อำเภอแก่งคอย วังม่วง และมวกเหล็ก) จังหวัดสุพรรณบุรี (อำเภอดอนเจดีย์ ด่านช้าง เมืองสุพรรณบุรี ศรีประจันต์ สองพี่น้อง สามชุก อู่ทอง และบางปลาม้า) จังหวัดนครปฐม (อำเภอกำแพงแสน)
4. ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอบ้านตาขุน และวิภาวดี) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอลานสกา พิปูน และช้างกลาง) จังหวัดระนอง (อำเภอละอุ่น และเมืองระนอง) จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า เมืองพังงา และคุระบุรี) จังหวัดกระบี่ (อำเภออ่าวลึก) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอถลาง และเมืองภูเก็ต)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ประกาศ ณ วันที่ 2 กันยายน 2565

อุตุฯ เตือน 54 จังหวัด รับมือฝนถล่ม (วันนี้ถึง 3 ก.ย. : 17.00 น.)

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 17.00 น.วันนี้ ถึง 17.00 น.วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
 
ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
 
ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
 
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
 
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส 
อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
 
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
 
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 2 กันยายน พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระยะนี้ไว้ด้วย
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 5-9 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา
 

กระบี่น้ำป่าท่วม ทะลักเกาะลันตา ไหลเซาะถนนพัง

วันที่ 2 กย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากภาวะฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ จ.กระบี่ โดยเฉพาะที่ อ.เกาะลันตา ปรากฏว่าน้ำจากบนภูเขาในเตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ได้ไหลลงมาท่วมถนนรอบเกาะ ซึ่งเป็นย่านชุมชนหลายแห่ง ทั้ง ตำบลศาลาด่าน และตำบลเกาะลันตาใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านคลองดาว และบ้านคลองหิน น้ำได้ไหลลงมาอย่างหนักในช่วงเช้าที่ผ่านมา ระดับน้ำสูงกว่า 50 ซม. น้ำได้กัดเซาะถนนจนพังเสียหายหลายแห่ง ซึ่งทางชาวบ้านได้บันทึกนาทีที่น้ำไหลลงมา พบว่ามีความรุแรงอย่างมากทั้งสภาพถนนที่พังเสียหายในขณะนั้น
ทั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ เผยว่า ทุกครั้งที่มีฝนตกลงมาอย่างหนักนั้น จะเกิดน้ำท่วมได้ทันที เนื่องจากระบบระบายน้ำที่คาดว่าน่าจะไม่มีมาตรฐานพอ และบางแห่ง ก็เป็นสันเขื่อนกั้นน้ำด้วยก็เลยเกิดน้ำท่วมบ้านและถนนหลายครั้งแล้ว
ที่มา : บ้านเมือง
ขอบคุณภาพจาก ปภ.

ภูเก็ตฝนตกหนัก! น้ำท่วมสนามบิน-รถใต้คอนโดฯ เสียหายหลายคัน

เนื่องด้วยสภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ขอให้ผู้โดยสารเผื่อเวลาในการเดินทางมายังท่าอากาศยานภูเก็ต อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง
คลิกชมคลิปที่นี่
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่รุ่งเช้าที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีฝนตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องนานนับชั่วโมง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอถลาง ทำให้มีน้ำท่วมหลายจุด ซึ่งพื้นที่ชั้นล่างภายในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ย่านสนามบินนานาชาติภูเก็ตเกิดน้ำท่วมขังสูง ทำให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ของผู้พักอาศัยภายในคอนโดมิเนียมดังกล่าวถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเจ้าของรถไม่สามารถเลื่อนรถออกจากที่จอดได้ทัน
ขณะเดียวกันบริเวณหน้าสนามกอล์ฟบลูแคยอน ถ.เทพกระษัตรี (ขาออก) ต.สาคู อ.ถลาง เกิดน้ำท่วมขังสูง ส่งผลให้พนักงานสนามกอล์ฟรายหนึ่งจอดรถไว้บริเวณดังกล่าวถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งคัน
ที่มา : https://www.thairath.co.th
เฟซบุ้คเพจ Phuket Hotnews รายงานว่า
พื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ต่อเนื่องกันมาหลายวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าวันนี้ ในอำเภอถลาง ทำให้น้ำท่วมหลายจุด โดยเฉพาะ ที่คอนโดแห่งหนึ่ง ซึ่งใกล้สนามบินภูเก็ต มีน้ำท่วม ทำให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ถูกน้ำท่วม จำนวนหลายสิบคัน ซึ่งเจ้าของไม่สามารถทำอะไรได้
ผู้สื่อข่าวได้ถามไปยัง นายวรวิทย์ สีสาคูคราม ผู้ใหญ่บ้านม.6 ต.ไม้ขาว กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้ลงพื้นที่ร่วมกับอำเภอถลาง โดยน้ำเริ่มลดลงแต่ยังไม่มาก พร้อมประสานปภ.ให้มาสูบน้ำออกจากคอนโดโดยเร็ว นอกจากนั้น นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและให้การช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นรถยนต์ได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า 40 คัน และรถจักรยานยนต์ไม่ต่ำกว่า 20 คัน
อ่านเพิ่มเติมคลิกที่นี่

อุตุฯ เผย มรสุมปกคลุมไทย ทุกภาคฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ลักษณะอากาศทั่วไป 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระยะนี้ไว้ด้วย
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 4 – 7 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06:00 วันนี้ ถึง 06:00 วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียสลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนัก บางแห่ง บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

 

ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา

กรุงเทพฯ ฝนตก ปริมาณฝนสูงสุดเขตคลองเตย

ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ วันที่ 1 กันยายน 2565 เวลา 14.30 น. ฝนเล็กน้อย-ปานกลาง บางพลัด ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี ราษฎร์บูรณะ จอมทอง ภาษีเจริญ บางแค ฝั่งพระนครชั้นใน กลุ่มฝนขยายตัวเพิ่มขึ้น เคลื่อนตัวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ช้าๆ ปริมาณฝนสูงสุดเขตคลองเตย 49.0 มม.

ที่มา : สำนักการระบายน้ำ

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่

ดาวเทียมเผย น้ำท่วม 4 ลุ่มน้ำสำคัญ กว่า 7.4 แสนไร่

GISTDA เผยภาพถ่ายดาวเทียม พบหลายพื้นที่ใน 4 ลุ่มน้ำสำคัญได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังแล้วกว่า 7.4 แสนไร่ ขณะพื้นที่ปลูกข้าวโดยรวมได้รับผลกระทบแล้ว 2.6 แสนไร่

GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ติดตาม สถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่บางส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำมูล ด้วย ดาวเทียม Radarsat-2 (เรดาร์แซท-2) เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2565 พบ พื้นที่น้ำท่วมขัง แล้วทั้งสิ้น 749,396 ไร่

โดยเฉพาะในเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัด สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครนายก ปราจีนบุรี และ นครราชสีมา ในขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวโดยรวมได้รับผลกระทบแล้ว 260,558 ไร่

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

อ่านข่าวฉบับเต็มคลิกที่นี่

พยากรณ์อากาศวันนี้ – 6 ก.ย. อุตุฯ เตือนไทยรับมือฝนตกหนัก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน

กรมอุตุนิยมวิทยาเผย พยากรณ์อากาศวันนี้ – 6 ก.ย.ทั่วไทยมีฝนตกต่อเนื่อง เฉพาะวันที่ 4-6 ก.ย.มีฝนเพิ่มกับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทะเลคลื่นสูง 2 เมตร พื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงาน (พยากรณ์อากาศล่วงหน้า) ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. – 3 ก.ย. 65 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง และในวันที่ 4 – 6 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

เตือนประชาชน วันที่ 4 – 6 ก.ย. 65 

  • ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสมที่เกิดขึ้นไว้ด้วย ที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
  • สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อ่านข่าวฉบับเต็มที่นี่ : https://www.thansettakij.com

อุตุฯ เตือน 3-9 ก.ย. ทั่วไทยรับมือ ‘พายุหินหนามหน่อ’ ระวังฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน

 

เพจกรมอุตุนิยมวิทยา โพสต์ภาพกราฟฟิกพร้อมข้อความระบุว่า 

อัพเดท ภาพกราฟฟิก แสดงการพยากรณ์ฝนรวมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.)10 วันล่วงหน้า (31 ส.ค.- 9 ก.ย. 65 ระหว่างเวลา 07.00น. – 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) จากแบบจำลองฯ ECMWF Init.2022083012 :

31 ส.ค. – 2 ก.ย. 65 ยังมีฝนและมีตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคอีสานด้านตะวันออก ภาคตะวันออก ภาคใต้ ตามมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนที่พัดปกคลุมตามฤดูกาล มีลมตะวันออกเฉียงใต้ (ลมในระดับล่าง) พัดแทรกเข้ามาปกคลุมบางเวลา ส่วนระดับบน (สูงจากพื้นดิน 5.5 กม.) มีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออก พัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งตะวันออกและอ่าวไทย ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อน

ช่วงวันที่ 3 – 9 ก.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น (มีพายุ “หินหนามหน่อ” เคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไต้หวัน ช่วยดึงดูดให้มรสุมแรงขึ้น) ทำให้ประเทศไทยตอนบน (ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออก )มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ต้องติดตามและเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย คลื่นลมมีกำลังแรงขึ้นด้วย

(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจ)

ที่มา : เพจ กรมอุตุนิยมวิทยา